Advertisement

ปลาทองตากลับ (Celestial goldfish)


ปลาทองตากลับ

ปลาทองสายพันธุ์ตากลับ หรือปลาทองเซเลสซัส เป็นปลาทองที่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ชาวจีนเรียกกันว่า “โซเตงงัง” (Chotengan) ซึ่งมีความหมายว่าปลาตาดูฟ้าดูดาว หรือตามุ่งสวรรค์ สาเหตุเนื่องจากปลาทองชนิดนี้มีตาหงายกลับขึ้นข้างบน ผิดจากปลาทองชนิดอื่นๆ นั่นเอง เคยมีนิทานจีนอยู่เรื่องหนึ่งได้เล่าต่อกันมาว่าปลาตัวนี้เกิดขึ้นในสมัยราชาภิเษกฮ่องเต้จีนพระองค์หนึ่ง โดยองค์ฮ่องเต้ได้ทอดพระเนตรลงในบ่อปลาก็พบว่าปลาทองตัวนี้ได้พลิกตาขึ้นมาจ้องมองพระองค์ คล้ายกับต้องการแสดงการคาระวะสรรเสริญพระองค์

ลักษณะของปลาทองสายพันธุ์ตากลับจะมีลำตัวคล้ายกับปลาทองหัวสิงห์แต่ครีบและหางจะไม่ตั้งแผ่เหมือนปลาทองหัวสิงห์ ในสมัยแรกๆ นั้นปลาทองพันธุ์นี้มีครีบหางที่ยาว ความยาวของหางพอๆ กับความยาวของลำตัว สีของตัวปลาเป็นสีส้มออกทอง เป็นปลาที่ไม่มีครีบกระโดงหลังเหมือนปลาทองพันธุ์หัวสิงห์ ต่อมาชาวญี่ปุ่นได้นำปลาชนิดนี้ไปเลี้ยง และผสมพันธุ์จนได้ปลาทองสายพันธุ์ตากลับที่มีครีบหางสั้นกว่าพันธุ์ดั้งเดิมของจีน ซึ่งชาวญี่ปุ่นได้ตั้งชื่อปลาชนิดนี้ว่า Deme Ranchu และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปลาทองพันธุ์นี้ก็เป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

แต่เนื่องจากปลาทองสายพันธุ์ตากลับเป็นปลาที่ค่อนข้างเลี้ยงยาก สาเหตุเพราะปลาทองสายพันธุ์นี้ตาไม่ค่อยดี และมีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นที่ดีคล้ายกับปลาทองพันธุ์ตาโปนทั้งหลาย ซึ่งถ้าเราให้อาหารสดที่ยังมีชีวิตปลามักจะว่ายไล่กินไม่ค่อยทัน เพราะมองไม่ค่อยเห็น ดังนั้นการเลี้ยงปลาชนิดนี้จึงควรให้อาหารตรงหน้าเพื่อให้ปลามองเห็นได้ชัดและไม่ควรเลี้ยงปลาทองพันธุ์นี้ร่วมกับปลาทองสายพันธุ์อื่นๆ เพราะมันอาจถูกรังแก หรือถูกปลาทองตัวอื่นแย่งอาหารกินหมด

สำหรับชนิดของอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาทองสายพันธุ์ตากลับนี้ ควรเลือกให้อาหารสำเร็จรูปจะดีกว่า เพราะปลาสามารถดมกลื่นและกินอาหารได้สะดวก ปลาทองสายพันธุ์นี้ไม่เหมาะสำหรับนักเลี้ยงปลาทองมือใหม่ เพราะเป็นปลาที่ค่อนข้างเปราะบาง และต้องการความเอาใจใส่ดูแลมากเป็นพิเศษ ไม่ควรเลี้ยงปลาทองชนิดนี้ในที่กลางแจ้งที่มีแสงจัด เนื่องจากแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ทำให้ปลาสู้แสงไม่ไหว และอาจถึงกับทำให้ปลาตาบอดได้ สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมจะเลี้ยงปลาสายพันธุ์นี้ควรอยู่ในระหว่าง 15-20 องศาเซลเชียส เนื่องจากเป็นปลาที่อยู่ในเมืองหนาว จัดว่าเป็นปลาที่ชอบอากาศเย็นเป็นพิเศษ


Comments are closed.