สำหรับในประเทศไทยเชื่อว่าปลาทองเข้ามาในสมัยอยุธยาตอนกลาง เพื่อเป็นของบรรณาการในราชสำนักราวๆ ปี ค.ศ. 1370-1489 การเลี้ยงปลาทองในฐานปลาสวยงามในยุคปัจจุบันเริ่มขึ้นหลังปี ค.ศ. 1960 ซึ่งความนิยมจะเริ่มขึ้นจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อนจะขยายตัวไปตามจังหวัดต่างๆ จนปัจจุบันมีฟาร์มเลี้ยงปลาทองมากมาย มีปลาหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งเกรดสูงที่มีราคาแพงและเกรดธรรมดาทั่วไป
ประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลาทองกันมากในแถบจังหวัดราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร สำหรับประเทศไทยผลผลิตปลาทองส่วนมากมีการจำหน่ายภายในประเทศและการส่งออกมีจำนวนน้อย การส่งออกปลาทองจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การส่งปลาที่มีคุณภาพดี เช่น สายพันธุ์หัวสิงห์ ตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ยุโรป อังกฤษและฝรั่งเศส ส่วนปลาทองคุณภาพรองลงมา เช่น ออแรนดา จะมีตลาดอยู่ในสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าปลาทองสายพันธุ์สิงห์ญี่ปุ่น (รันซู) จากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เพื่อการเพาะเลี้ยงและปรับปรุงสายพันธุ์
ปลาทอง เป็นสัตว์น้ำที่มีชื่อที่มีความหมายล้ำค่าแก่ผู้ที่ได้ครอบครอง และยังเป็นปลาที่มีผู้นิยมเลี้ยงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยความหลากหลายของสายพันธุ์ ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศสูงมาก อาชีพการเพาะเลี้ยงปลาทองสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เพาะเลี้ยงได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ปลาทองเป็นที่สนใจอย่างแพร่หลายไปทั่วเพราะความแปลกใหม่ทั้งรูปทรงสีสัน จากวิวัฒนาการของปลาทองเองและการพัฒนาของนักเพาะพันธุ์ รวมถึงภูมิประเทศที่เพาะเลี้ยง
มีการคัดสายพันธุ์ใหม่ๆ มาเพาะพันธุ์เรื่อยมา ทำให้ปลาทองมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งด้านลักษณะรูปร่าง และสีสันที่มีความฉูดฉาดมากขึ้น ปลาทองเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตไว กินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งอาหารสำเร็จรูป เรื่องราวและชีวิตของปลาเป็นมาอย่างไรนั้นคงจะพร้อมทราบกันบ้างแล้ว สำหรับในโพสถัดไปจะพูดถึงเรื่อง ปลาทองที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันว่ามีกี่สายพันธุ์ และมีพันธุ์อะไรบ้าง มีลักษณะเด่นอย่างไร และได้รับความนิยมอย่างไรในการเลี้ยง ดูได้ทั้งในสายพันธุ์ปลาทองของไทยเองและทั่วโลก