Advertisement

ปลาทองตาลูกโป่ง (Bubble eye goldfish)


ปลาทองตาลูกโป่ง

ปลาทองตาลูกโป่ง เป็นปลาทองที่มีลักษณะลำตัวสั้นและส่วนท้องกลมคล้ายๆ กับพันธุ์ริวกิ้น มีลักษณะเด่นที่ตาทั้งสองข้าง โดยตาจะยื่นโป่งออกมาด้านข้างอย่างเห็นได้เด่นชัด ถือกันว่าตายิ่งโป่งมากยิ่งเป็นลักษณะที่ดี และเมื่อมองจากด้านบนจะต้องมีลักษณะกลมยื่นออกมาเท่ากันทั้งตาซ้ายและตาขวา ครีบทุกครีบและหางจะต้องแผ่กว้าง ปลายไม่หุบเข้าหรืองอไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ครีบที่เป็นครีบคู่จะต้องเท่ากันและชี้ไปในทิศทางเดียวกันหรือขนานกัน

ปลาทองตาลูกโป่งเป็นปลาทองที่มีสายพันธุ์กำเนิดมาจากประเทศจีน นับว่าเป็นปลาทองอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีความเปราะบาง เลี้ยงยาก เนื่องจากมันมีเบ้าตาที่ค่อนข้างพิเศษและพิศดารกว่าปลาทองพันธุ์อื่นๆ นั่นคือเบ้าตาของมันมีความใหญ่โตผิดแผกแตกต่างจากปลาทองทั่วๆ ไป เบ้าตาของปลาชนิดนี้มีขนาดใหญ่โต และดูคล้ายมีลูกโป่งติดอยู่ที่ดวงตาของมัน และนี่ก็คือที่มาของชื่อ “ปลาทองตาลูกโปง” นั้นเอง

ผู้เลี้ยงต้องคอยระวังมิให้ถุงใต้ตานั้นแตก ซึ่งอาจจะทำให้ปลาพิการหรือตายได้เพราะปลาจะเสียการทรงตัว และติดเชื้อโรค ปลาทองตาลูกโป่งมีทั้งสีเหลือง สีขาว สีแดง และส้ม หรือหลากหลายสีสันในตัวเดียว หรือแม้กระทั่งน้ำตาลดำทั้งตัวก็มี อันที่จริงแล้วปลาทองตาลูกโป่งจัดว่าว่ายน้ำได้เร็ว แต่เนื่องจากส่วนหัวของมันถูกถ่วงไว้ด้วยลูกโป่ง จึงทำให้การว่ายน้ำไม่สู้สะดวกนัก โดยเฉพาะปลาที่มีลูกโป่งขนาดใหญ่มากๆ นั่นเป็นปลาที่นักเลี้ยงปลาทองจัดว่ามีความสวยงามมากเป็นพิเศษ

ปลาชนิดนี้เมื่อมีอายุได้ 6-9 เดือน ถุงเบ้าตาก็จะเริ่มเจริญเติบโตให่้เห็นเด่นชัดและเมื่ออายุได้ 2 ปี ก็จะเจริญพันธุ์เต็มที่ ส่วนปัญหาที่มักจะเกิดกับปลาชนิดนี้คืออาการตกเลือดที่ถุงเบ้าตา วิธีแก้คือ การใช้เข็มเจาะเอาเลือดที่ตกค้างอยู่ในนั้นออก จากนั้นไม่นานลูกโป่งก็จะหายเป็นปกติ ส่วนกรณีที่ตาลูกโป่งของปลาเกิดกระทบกระแทกจนลูกโป่งแตก หากไม่รุนแรงมากนัก ปลาก็หายเป็นปกติในไม่ช้า แต่ถ้ากระแทกอย่างรุนแรงปลาอาจตายได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรที่จะระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงการดูดเปลี่ยนน้ำไม่ควรให้ปลาว่ายเข้าใกล้ท่อดูดน้ำมากนัก เพราะลูกโป่งอาจถูกท่อดูดจนแตกได้

ปลาชนิดนี้มีอายุได้ราว 5-10 ปี ซึ่งจัดได้ว่าค่อนข้างมีอายุสั้นเมื่อเทียบกับพันธุ์อื่นๆ นอกจากจะเลี้ยงยากแล้วยังให้ลูกได้น้อยอีกด้วย และเป็นปลาที่มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างช้า ในขณะที่ลูกปลาชนิดนี้มีขนาดเล็ก จึงไม่เป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาทองเท่าไรนัก เนื่องจากลูกปลายังไม่มีลูกโป่งขึ้นให้เห็นได้อย่างชัดเจนนัก อีกทั้งปลาชนิดนี้หาที่มีรูปร่างและสัดส่วนที่สมบูรณ์ค่อนข้างยาก

แต่ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อปลาชนิดนี้โตเต็มที่แล้ว ก็จะเริ่มเป็นที่นิยมเลี้ยงกันพอสมควรเพราะเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมันจะเริ่มปรากฎให่้เห็นได้อย่างเด่นชัด โดยปลาทองตาลูกโป่งยังแบ่งออกมาสายพันธุ์ย่อยๆ ได้อีกตามลักษณะสีบนลำตัวและครีบได้แก่

  • ปลาทองตาลูกโป่งสีแดงหรือขาวแดง (Red telescope-eyes goldfish) ลำตัวและครีบจะต้องมีสีแดงเข้ม หรืออาจมีสีขาวสลับแดง และสีขาวจะต้องขาวบริสุทธิ์ไม่อมเหลือง ถึงจะถือว่าเป็นลักษณะที่ดี
  • ปลาทองตาลูกโป่ง 3 สี หรือ 5 สี (Calico telescope-eyes goldfish) ลำตัวและครีบมีหลายสีในปลาตัวเดียวกัน

Comments are closed.