Advertisement

ปลาทองริวกิ้น (Ryukin)


ปลาทองริวกิ้น

ปลาทองริวกิ้นเป็นหนึ่งในบรรดาปลาทองที่เป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ปลาทองพันธุ์ริวกิ้นจัดว่าเป็นปลาทองที่ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้ปลาทองพันธุ์อื่นๆ เนื่องจากปลาทองริวกิ้นเป็นปลาที่มีรูปร่างและสีสันสวยงามน่ารัก และยังเป็นปลาทองที่มีท่วงท่าในการแหวกว่ายที่สวยงามน่าหลงไหลอีกด้วย

ลักษณะโดยทั่วไปของปลาทองริวกิ้น คือมีลำตัวค่อนข้างกลมและสั้น หางจะแบนและยาวมากเป็นพิเศษ เวลาแหวกว่ายครีบแต่ละครีบจะเบ่งบานแลดูเป็นสง่า ปลาที่ดีลักษณะของหัวจะต้องเล็ก เกล็ดหนาขึ้นเรียงกันเป็นระเบียบ ปลาชนิดนี้มีทั้งแบบหางซิวและหางสี่ แต่โดยมากนักเลี้ยงปลามักนิยมแบบหลังกันมากกว่า ปลาทองริวกิ้นโดยส่วนมากจะมีสีแดงและสีขาว หรือมีสามสีคือ สีแดง สีดำและสีขาว หรือมีห้าสี คือสีแดง สีดำ สีขาว สีส้ม และฟ้า ซึ่งในบ้านเรานิยมเรียกกันว่า “ริวกิ้นห้าสี” ความยาวของปลาทองชนิดนี้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดราวประมาณ 30 เซนติเมตร (วัดจากหัวจรดหาง)

ปลาทองสายพันธุ์นี้จัดว่าเป็นปลาที่ค่อนข้างเปราะบางและเลี้ยงยาว และเป็นปลาที่มีประสาทรับความรู้สึกต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิไวมากเป็นพิเศษ ปลาชนิดนี้หากอยู่ในน้ำที่มีระดับอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศา เป็นระยะเวลานานๆ อาจจะทำให้กระเพาะลมภายในตัวปลาทำงานผิดปกติได้ นอกจากนี้ครีบของปลาชนิดนี้ยังค่อนข้างเปราะบางและหักง่าย หากผู้เลี้ยงไม่รู้หลักวิธีการเลี้ยงปลาทองที่ถูกวิธี ครีบและหางมักจะเสียและเกิดการพิการได้ ซึ่งไม่มีทางรักษาให้หายได้ ปลาทองริวกิ้นชอบกินลูกน้ำ ไรสีน้ำตาล และอาหารสำเร็จรูป

ปลาทองริวกิ้นจึงไม่ค่อยเหมาะสำหรับนักเลี้ยงปลาทองมือใหม่เท่าไรนัก นอกจากนี้หากผู้เลี้ยงปลาทองริวกิ้นควบคุมอาหารไม่ดีพอก็มักจะมีปัญหาตามมาอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของน้ำเสีย ที่หากสกปรกมากๆ จะทำให้สีของปลาซีดลงได้ และไม่ควรนำปลาทองริวกิ้นไปเลี้ยงกลางแจ้ง ส่วนการรักษาระดับอุณหภูมิก็เป็นเรื่องที่สำคัญ สมควรอยู่ในช่วงประมาณ 25 องศา

ลักษณะของปลาทองริวกิ้นที่ดีคือส่วนหางควรมีความยาวมากกว่าลำตัว ครีบหาง ควรทำมุมฉากกับลำตัว 45องศา ครีบทุกครีบจะต้องเบ่งบานและไม่คดงอหรือหัก ครีบต้องยาวไม่พับหรือหุบเข้า และครีบทั้งสองข้างควรมีขนาดเท่ากัน สีของปลาควรจะมีสีเข้มเกล็ดเป็นมัมแวววาวเรียงกันเป็นระเบียบ โดยเฉลี่ยปลาทองริวกิ้นแต่ละตัวจะมีอายุประมาณ 5-6 ปี ขณะนี้ประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์นี้ได้ดีแล้วระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถทัดเทียมกับญี่ปุ่นได้ และลูกปลาที่เพาะได้ยังมีอัตราการเสียหายสูงมาก โดยเฉลี่ยลูกปลาที่มีครีบและหางครบสมบูรณ์คัดได้ไม่ถึง 10% ในแต่ละครอก


Comments are closed.