Advertisement

องค์ประกอบภายนอกของปลาทอง ตอนที่ 2


หางและครีบปลาทอง

จากบทความที่ผ่านมาเราได้รู้จักกับองค์ประกอบภายนอกของปลานอกส่วนต่างๆ ไปคราวๆ แล้ว วันนี้เราจะมาแนะนำกันต่อ ถึงส่วนตัว และส่วนหัวของปลาทองกันนะครับ ส่วนตัวปลาทอง ส่วนตัวคือส่วนตั้งแต่แผ่นปิดเหงือกไปจนถึงโคนครีบหาง ประกอบด้วยอวัยวะภายนอกที่สำคัญดังนี้

 

เกล็ด เป็นแผ่นกระดูกบางใสเรียงเกยซ้อนกันคล้ายกระเบื่้องมุงหลังคาอยู่ที่ผิวหนังของตัวปลา ทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายในของปลา นอกจากนั้นเกล็ดปลาจะมีเมือกห่อหุ้มไว้อีกชั้น ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันโรคให้กับปลา และลดการเสียดสีกับสิ่งของในน้ำ และระหว่างปลาด้วยกันเอง

ครีบอก หรือครีบหู เป็นครีบคู่ ตั้งอยู่บริเวณกระพุ้งแก้มหลังแผ่นปิดเหงือกข้างละอัน ทำหน้าที่บังคับให้หัวปลาปักลงหรือเชิดขึ้น หรือช่วยให้ปลาทรงตัวอยู่กับที่

ครีบท้อง เป็นครีบคู่เช่นกัน ตั้งอยู่บริเวณใต้ท่้องถัดจากครีบอกไปทางด้านหลังเล็กน้อย ทำหน้าที่เช่นเดียวกับครีบอก

ครีบก้น ตั้งอยู่ที่ส่วนล่างอยู่ลำตัวถัดจากครีบหางมาทางส่วนหน้าเล็กน้อยและอยู่ใกล้กับรูทวารหนัก มีหน้าที่ช่วยในการทรงตัว ปกติครีบทวารจะเป็นครีบเดี่ยว คือ มีครีบเดี่ยว แต่ปลาทองบางชนิด ครีบทวารแยกเป็นรูปตัว (V) ซึ่งมีทั้งชนิดครีบยาวและแฉกปลาย ปลาทองบางชนิดก็มีครีบทวารแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง เป็น 2 ครีบ

ครีบหลัง มีหน้าที่ช่วยให้ปลาเคลื่อนที่ได้ตรงทิศทางและรวดเร็วขึ้น หากจะแบ่งปลาทองโดยอาศัยครีบหลังเป็นเกณฑ์สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่มีครีบหลังคล้ายเสากระโดงเรือตั้งอยู่กลางลำตัว เช่น ปลาทองธรรมดา ปลาทองพันธุ์โคเมท ซูบุงกิง เป็นต้น
  • กลุ่มที่มีครีบหลังยาว เช่น ปลาทองริวกิ้น ออแรนดาหัววุ้น เป็นต้น
  • กลุ่มที่ไม่มีครีบหลัง เช่น ปลาทองพันธุ์หัวสิงห์ พันธุ์ตาโปน ตากลับ ตาลูกโป่ง เป็นต้น

ส่วนหาง ส่วนหางคือส่วนตั้งแต่โคนหางไปจนถึงปลายครีบหาง เป็นอวัยวะที่จะทำให้ปลาเคลื่อนที่ข้างหน้า ตลอดจนบังคับเลี้ยวและทรงตัว และยังเป็นส่วนสำคัญของปลาทองที่ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็น จึงมีการพยายามเพาะพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาทองที่มีครีบหางต่างๆ กัน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 6 แบบ ดังนี้ เช่น

  • หางซิว ลักษณะปลายครีบหางเว้าเป็น 2 แฉก เช่น ปลาทองธรรมดา
  • หางซิวยาว ลักษณะหางเว้าลึกและยาวกว่าหางซิว เช่น ปลาทองโคเมท ปลาทองซูบุงกิง เป็นต้น
  • หางสามแฉก ลักษณะหางด้านบนติดกันแต่ด้านล่างแยกเป็น 2 แฉก
  • หางดอกซากุระ ลักษณะหางด้านบนและด้านล่างแยกจากกัน มองเห็นเป็น 4 แฉก
  • หางนกยูง ครีบหางแยกเป็น 4 แฉก แบบเดียวกับหางดอกซากุระ แต่ปลายครีบหางแผ่ตั้งคล้ายหางนกยูง เช่น ปลาทองยิคิง เป็นต้น
  • หางกลับ ครีบหางที่ควรจะอยู่ส่วนบนได้กลับลงมาอยู่ข้างล่าง

Comments are closed.