Advertisement

ปลาทองหัวสิงห์ตันโจ


ปลาทองหัวสิงห์ตันโจ

ปลาทองหัวสิงห์ตันโจ เป็นปลาทองที่มีลักษณะแตกต่างจากพันธุ์อื่นๆ โดยสิ้นเชิงนั่นคือแทนที่มันจะมีวุ้นขึ้นดกหนาเหมือนปลาทองหัวสิงห์สายพันธุ์อื่นๆ แต่ปลาทองหัวสิงห์ตันโจกลับมีเยื่อจมูกยื่นออกมา ทำให้ดูแปลกตาออกไป ส่วนวุ้นบนหัวโดยมากจะมีลักษณะบางจนแทบมองไม่เห็น และโดยทั่วไปปลาทองสายพันธุ์นี้จะมีช่วงลำตัวยาวและเพรียวกว่าปลาทองหัวสิงห์สายพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย

สำหรับหลักเกณฑ์ความสวยงามจะพิจารณาจากความสวยของเยื่อจมูกของปลาเป็นหลัก ส่วนลักษณะอื่นๆ ก็ยึดหลักเกณฑ์เดียวกันกับการตัดสินปลาทองหัวสิงห์ทั่วๆไป ปลาทองสายพันธุ์นี้ในบ้านเราไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าไรนัด สาเหตุอาจเป็นเพราะทรวดทรงที่ไม่สวยงามเท่ากับปลาทองหัวสิงห์สายพันธุ์ที่มีวุ้นดกหนา ขณะเดียวกันก็เป็นปลาที่แพร่พันธุ์ได้ยากมาก และส่วนมากลูกปลาที่เพาะได้ก็จะพิการเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงทำให้ปลาชนิดนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากนักเพาะพันธุ์ปลาทองมืออาชีพนักเพราะเพาะแล้วไม่คุ้มค่านั่นเอง


ปลาทองชูบุงกิง (Shubunkin)


ปลาทองชูบุงกิง

ปลาทองชูบุงกิงเป็นปลาทองที่มีความแข็งแรงอดทนมากชนิดหนึ่ง มีเกล็ดบางใสแต่ไม่เงาแวววาวเหมือนปลาทองทั่วๆ ไป ลำตัวมีลักษณะคล้ายปลาทองสามัญแต่จะเพรียวกว่า มีครีบที่สมบูรณ์และยาวกว่า ปลายหางจะมนกลม เป็นปลาที่ว่ายน้ำได้รวดเร็ว และต้องการพื้นที่ในที่เลี้ยงพอสมควร ปลาทองชนิดนี้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 9 นิ้ว มีอายุยืนยาวราว 10-20 ปี จัดว่าเป็นปลาทองที่ค่อนข้างเลี้ยงง่าย สามารถเลี้ยงได้ในกลางแจ้งตลอดทั้งปี เป็นปลาที่สามารถปรับตัวให้เข้าสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เลี้ยงได้ในที่มีอุณหภูมิต่ำ แต่ไม่ควรให้ปลาอยู่ในที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 60 องศาเป็นระยะเวลานานๆ เพราะความเย็นอาจจะทำให้กระเพาะลมของปลาเกิดผิดปกติได้ ปลาชนิดนี้มีด้วยกันหลากหลายสี เช่น สีแดง ขาว ดำ ทอง น้ำตาล เหลือง ม่วงเข้ม น้ำเงินและเทา
Continue reading ปลาทองชูบุงกิง (Shubunkin)


ปลาทองหัวสิงห์จีน (Chinese lion head)


ปลาทองหัวสิงห์จีน

ปลาทองหัวสิงห์จีนเป็นปลาทองสวยงามสายพันธุ์หนึ่ง ลำตัวค่อนข้างยาวมีลักษณะเด่นคือมีวุ้นเยอะกว่าสิงห์ญี่ปุ่น ส่วนหลังก็จะโค้งน้อยกว่าสิงห์ญี่ปุ่น ปลาทองหัวสิงห์จีนมีหางใหญ่ยาวกว่า ลำตัวและครีบมักจะมีสีอ่อนกว่า สิงห์ญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งถือได้ว่ารับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นในประเทศจีน ในราวศตวรรษที่ 17 หรือ 18 โดยเรียกชื่อมาจาก “ชีชี” หรือ สิงโตหินรูปปั้นที่ทำหน้าที่ทวารบาลเฝ้าประตูต่างๆ ตามสถาปัตยกรรมแบบจีน

ปลาทองหัวสิงห์จีนบางตัวอาจมีวุ้นปกคลุมมิดทั้งดวงตา มีส่วนคอที่สั้น ลักษณะของปลาที่ได้มาตรฐานว่าสวยคือส่วนหลังโค้ง หางบานออกพอประมาณต้องได้ฉาก ลำตัวไม่ว่าจะสั้นหรือยาวต้องได้สัดส่วน ถ้าเป็นปลาลำตัวยาวปลานั้นจะต้องอ้วนใหญ่ แกนสันหลัง หาง ครีบ ทวาร ครีบหน้า และบริเวณหัวต้องใหญ่และได้สัดส่วนด้วย หากเป็นปลาลำตัวสั้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณสันหลัง ครีบต่างๆ และลำตัวต้องสั้นได้สัดส่วน


องค์ประกอบภายนอกของปลาทอง


Goldfish

องค์ประกอบภายนอกของปลาทองโดยทั่วไปแล้วแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนลำตัว และส่วนหาง

ส่วนหัว ส่วนหัวเริ่มต้นจากปลาปากไปจนถึงเหงือก ปลาทองหลายชนิดมีก้อนเนื้อลักษณะเป็นเม็ดรวมตัวเป็นก้อนที่นิยมเรียกกันว่า “วุ้น” จับอยู่บริเวณส่วนหัว แต่ปลาทองบางพันธุ์ก็ไม่มีวุ้น ส่วนหัวของปลาทองถ้ามองจากด้านบนจะแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ 1. ลักษณะคล้ายหัวเรือ เช่น ปลาทองพันธุ์วากิง และริวกิ้น 2. ลักษณะกลมรี เช่น ปลาทองพันธุ์ออแรนดาหัววุ้น 3. ลักษณะทรงกลมแบบครึ่งเหรียญ เช่น ปลาทองพันธุ์หัวสิงห์ โดยส่วนหัวของปลาทองประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญมีดังนี้

ตา เป็นอวัยวะที่ช่วยให้มองเห็น แต่ตาปลาทองมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากปลาทั่วไป โดยแบ่งออกเป็น 4 แบบ คือ

  • แบบตาปกติทั่วไป ได้แก่ ปลาทองธรรมดา ปลาทองโคเมท ปลาทองริวกิ้น ปลาทองออแรนดา เกล็ดแก้ว เป็นต้น
  • แบบตาโปนออกมาด้านข้าง ได้แก่ ปลาทองพันธุ์ตาโปนต่างๆ ปลาทองพันธุ์เล่ห์ เป็นต้น
  • แบบตาหงายขึ้นด้านบน ได้แก่ ปลาทองพันธุ์ตากลับ เป็นต้น
  • แบบตาที่มีขอบโป่งพองเหมือนมีถุงน้ำติดอยู่ด้านข้าง ได้แก่ ปลาทองพันธุ์ตาลูกโป่ง เป็นต้น

แม้ตาปลาทองบางพันธุ์จะมีลักษณะแตกต่างจากปลาทั่วไป แต่ก็สามารถมองเห็นทิศทางการว่ายน้ำ และการมองหาอาหารได้เหมือนตาปกติธรรมดา

ปาก หน้าที่หลักใช้สำหรับกินอาหาร แล้วส่งอาหารเข้าสู่ระบบการย่อย นอกจากนั้นแล้วยังใช้สำหรับคุ้นหาอาหารตามพื้น และช่วยหายใจโดยโผล่ปากขึ้นมาสูดออกซิเจนเข้าไปชดเชยในกรณีที่ออกซิเจนในน้ำไม่เพียวพอ

จมูก ถ้าสังเกตที่บริเวณเหนือริมฝีปากขึ้นมาเล็กน้อยจะเห็นมีรูเล็กๆ 2 รู นั่นคือ “จมูก” ปลาทองบางสายพันธุ์มีเยื่อจมูกโผล่ยื่นออกมาข้างนอกเป็นกระจุก เช่น ปลาทองพันธุ์ปอมปอน ซึ่งปลาไม่ใช้จมูกสำหรับหายใจเหมือนสัตว์บก แต่มีไว้สำหรับดมกลิ่นในการหาอาหาร

เหงือก เป็นเนื้อเยื่อซ่อนอยู่ใต้แผ่นกระดูกตรงบริเวณแก้มปลา ทำหน้าที่กรองออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำเพื่อเอาไปใช้ในระบบหายใจ ส่วนแผ่นกระดูกที่ติดเหงือกอยู่เรียกว่า “แผ่นปิดเหงือก” มีไว้สำหรับป้องกันเหงือ และเปิดปิดช่องเหงือก

วุ้น เป็นก้อนเนื้อ มีลักษณะเป็นเม็ดกลมเล็กๆ รวมตัวซ้อนกันอยู่ตรงบริเวณส่วนหัวของปลาทองคล้ายฟองสบู่ ภายในประกอบด้วยชั้นไขมันหนา เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของปลาทองที่ผู้เลี้ยงมองว่าเป็นความสวยงาม แต่ไม่เกิดประโยชน์อันใดกับตัวปลาเองเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับเป็นภาระที่ปลาจะต้องแบกไว้ชั่วชีวิตด้วยซ้ำ ปลาทองที่มีวุ้นบนส่วนหัว ได้แก่ ปลาทองพันธุ์หัวสิงห์ออแรนดาหัววุ้น เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทองพันธุ์หัวสิงห์วุ้นจะดกหนาเป็นก้อนใหญ่คลุมลงมารอบปากที่เรียกกันว่า “เขี้ยว” ปลาทองบางพันธุ์ก็ไม่พบวุ้นที่บริเวณหัว เช่น ปลาทองพวกที่มีลำตัวแบน ปลาทองพันธุ์ริวกิ้น วากิ้น เป็นต้น


ปลาทองหัวสิงห์ 5 สี


ปลาทองหัวสิงห์ 5 สี

ปลาทองหัวสิงห์ 5 สี เป็นปลาทองหัวสิงห์ที่จะมีลักษณะแตกต่างไปจากปลาทองหัวสิงห์สายพันธุ์อื่นๆ ตรงที่มีสีสันบนลำตัวรวมทั้งสิ้นทั้งหมด 5 สีด้วยกัน คือสีดำ สีแดง สีขาว สีน้ำเงินและสีเหลือง ปลาทองหัวสิงห์ 5 สีนี้หากมองดูเพียงผิวเผินจะรู้สึกว่าเป็นปลาทองที่ไม่มีเกล็ดบนลำตัว แต่ที่จริงแล้วปลาทองสายพันธุ์นี้จะมีเกล็ดเหมือนกับปลาทองพันธุ์อื่นๆ เพียงแต่เกล็ดจะมีลักษณะโปร่งใส จึงทำให้เรามองไม่ค่อยชัดหากไม่สังเกตดีๆ และวิธีการสังเกตปลาทองสิงห์ 5 สีที่จัดอยู่ในเกณฑ์สวยคือมีสีสันบนลำตัวควรมีทั้ง 5 สี และมีสีสันบนลำตัวต้องคมชัด และขึ้นอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม คือ ดูแล้วได้น้ำหนักที่สมดุลกันทั้งตัว โดยปลาที่จัดว่าเป็นปลามีราคาควรจะมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วทั้งตัว