Advertisement

ลักษณะปลาทองที่ดีที่ได้รับความนิยม


ปลาทอง

ปลาทองจัดว่าเป็นปลาสวยงามที่ใช้อวัยวะส่วนครีบและกล้อมเนื้อช่วยในการเคลื่อนไหว หายใจด้วยเหงือก มีกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่แล้วปลาสวยงามจะมีลักษณะรูปร่างที่แปลก สีสันลวดลายงดงาม แตกต่างกันออกไปในแต่ละสายพันธุ์ แต่แท้ที่จริงแล้วสีสันเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งอำพราง หรือเป็นการปรับตัวให้กับเข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อให้พ้นภัยจากศัตรู และยังสามารถช่วยดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม

นอกจากรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันแล้ว ยังพบว่าพฤติกรรมการผสมพันธุ์ไม่ค่อยเหมือนกันอีกด้วย ดังนั้นท่านที่สนใจในการเพาะพันธุ์ปลาทองสวยงามควรจะต้องศึกษาลักษณะส่วนต่างๆ ของปลาทอง ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเจริญเติบโตของปลา การวางไข่ และนิสัยความเป็นอยู่ ฯลฯ เพื่อช่วยปรับสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสมต่อความต้องการของปลาให้ดีขึ้น สำหรับลักษณะของปลาทองที่ดีที่ได้รับความนิยมมีดังนี้

สีของปลาทอง
สภาวะแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงสว่างมีอิทธิพลต่อสีของปลาทองมากที่สุด ปลาทองที่เลี้ยงในที่มีแสงสลัว เช่น เลี้ยงในบ่อลึก หรือในแม่น้ำสีจะซีดจาง ตรงกันข้ามกับปลาทองที่เลี้ยงในที่มีแสงสว่างจ้าจะเข้มและสดใส ซึ่งสีปลาทองเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดสี 2 หรือ 3 ชนิด ได้แก่ สีดำ เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดสีเมลาโนฟอร์ (Melanophores) สีเหลือง เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดสีแซนโธพอร์ (Zanthophores) และสีแดง เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดสีอีริโธฟอร์ (Exythopres) บางตำราว่าเหมือนกับแซนโธพอร์

การมีหรือขาดเซลล์เม็ดเลือดสีในปริมาณแตกต่างกัน รวมทั้งองค์ประกอบทางเคมีตลอดจนตำแหน่งของเซลล์เม็ดสีในตัวปลาคือปัจจัยที่ทำให้ปลาทองมีสีต่างๆ

สีแดง ปลาทองสีแดงเป็นปลาที่มีเซลล์เม็ดสีแดง จำนวนมาก
สีขาว ปลาทองสีขาวเป็นปลาที่ไม่มีเซลล์เม็ดเลือดสีอยู่เลย
สีดำ ปลาทองที่มีสีดำจะมีเซลล์เม็ดสีเมลาโธฟอร์ (ดำ) จำนวนมากและเรียงอยู่ที่ชั้นใกล้ผิวหนังของตัวปลา
สีทอง ปลาทองป่าหรือปลาทองตามธรรมชาติ จะมีเซลล​์เม็ดเลือดสีเพียง 2 ชนิด คือเมลาโนฟอร์ (ดำ) และแซนโธฟอร์ (เหลือง) เมื่อรวมกับสารประกอบทำให้ปลาทองป่ามีสีเทาอมเงิน เมื่อเกิดการกลายพันธุ์จะมีส้มหรือสีเหลือง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณของเซลล์สีแซนโธฟอร์ (เหลือง)
สีทองแดงหรือสีนาค สัดส่วนการผสมที่ไม่เท่ากันของเซลล์เม็ดสีเมลาโนฟอร์ (ดำ) กับ สีแซนโธฟอร์ (เหลือง) ทำให้เกิดโทนสีหลายสี ตั้งแต่สีทองแดง สีเหล็ก ไปจนถึงสีน้ำตาล
สีน้ำเงิน ปลาทองที่มีสีมุก (Nacreous/Matt fish) ถ้าเซลล์เม็ดเลือดมีสีเมลาโนฟอร์ (ดำ) มีจำนวนน้อย และอยู่ในชั้นของผิวหนังค่อนข้างลึก รวมทั้งเซลล์เม็ดสีแซนโธฟอร์ (เหลือง) ขาดหายไป สีของปลาที่มองเห็นจะออกไปทางสีน้ำเงิน ซึ่งถ้าจะว่าไปสีน้ำเงินเมลทัลลิก บลู (Metallic blue) จริงๆ แล้วก็คือสีเทานั่นเอง

นอกจากความแตกต่างในเรื่องสีของปลาทองจะขึ้นอยู่กับปริมาณของเซลล์เม็ดสี (Pigment cell) แล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับสารประกอบสีเงินที่เรียกกันว่า กวานีน (Gua-nine) ซึ่งอยู่ในชั้นใต้ผิวหนังใต้เกล็ดปลา ปกติเกล็ดปลาจะมีลักษณะโปร่งใส่ (Transparent) ถ้าปลาตัวไหนมีสารกว่านินในชั้นผิวหนังจำนวนมาก เกล็ดปลาก็จะเห็นเป็นสีเงินสะท้อนแสงเป็นแวววาว ถ้ามีสารกว่านินจำนวนน้อย เกล็ดปลาจะเห็นเป็นสีมุกจางๆ (Nacreous) แต่ถ้าขาดสารกว่านินเกล็ดปลาจะมองเห็นเป็นสีมุกทึบนั่นเอง


Comments are closed.