Advertisement

ปลาทองรันชู (RanChu Gold Fish)


ปลาทองรันชู

ปลาทองรันชูเป็นปลาทองสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม หากจะกล่าวถึงสิ่งที่น่าสนใจของปลาทองรันชูด้วยคำพูดสั้นๆ คงเป็นเรื่องยาก ด้วยเสน่ห์ของปลาทองชนิดนี้ที่ต่างจากปลาทองชนิดอื่นๆ จึงทำให้ผู้คนต่างให้ความสนใจและหันมาเริ่มเลี้ยงปลาทองชนิดนี้กันมากยิ่งขึ้น

ปลาทองรันชูเป็นปลาที่ต้องชื่นชมความสวยงามจากมุมมองด้านบน ความสวยงามของหางที่แสดงถึงพวงหางที่งดงาม ส่วนหัวที่พอเริ่มมีอายุจะมีก้อนเนื้อวุ้นที่เติบโตตามตัวซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งมังกร หรือบางทีเน้นที่เขี้ยวปลาที่องอาจมีสง่าราศี เกล็ดที่เรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบ และสะท้อนรับกับแสงไฟหรือแสงอาทิตย์ สันหลังที่ปราศจากครีบโค้งมนรับกับรูปทรงของปลา และสีสันลวดลายที่สะดุดตาผผู้ชมยิ่งนักจึงไม่แปลกเลยที่ปลาทองรันชูจะดึงดูดความสนใจของผู้ที่ได้พบเห็นมัน และชักชวนให้เริ่มมาเป็นเจ้าของเลี้ยงดูกันมากขึ้น

ปลาทองรันชูเป็นปลาทองที่มีลักษณะคล้ายกับปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่นมาก โดยเป็นปลาทองที่มีลำตัวอ้วนหนา บึกบึน ไม่มีครีบหลัง ลักษณะของปลาทองรันชูที่สวยงามได้มาตรฐานคือต้องมีช่วงหลังโค้งลาดลงได้สัดส่วน ไม่นูนไปข้างหน้าหรือข้างหลังจนเกินไป ความโค้งของหลังไม่ตื้นหรือลึกเกินไป ไม่จำเป็นต้องมีหลังที่โค้งเรียบ ส่วนท้องด้านข้างควรโป่งพอง แนวลำตัวเริ่มจากจะงอยปากจนถึงปลายหางต้องอยู่ในแนวเส้นตรงไม่บิดเบี้ยวหรือโค้งงอ เกล็ดควรมีความสม่ำเสมอเรียงตัวกันเป็นระเบียบจากต้นคอจนถึงโคนหาง และเป็นเงางามแลดูสดใสแวววาว โคนหางใหญ่ บึกบึน และมีพละกำลัง

ส่วนครีบหางต้องแผ่กว้างสมดุลกันทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ไม่บิดโค้งงอ มีขนาดที่เหมาะสมกับลำตัว ลักษณะของครีบหางมีสองแบบคือหางสามแฉกและสี่แฉก มุมยกของหางควรทำมุมไม่เกิน 45 องศากับแผ่นหลัง ไหล่หางงุ้มมาข้างหน้าเล็กน้อย ส่วนปลายของหางไม่ควรยกสูงกว่าแนวของสันหลัง สีของปลาทองรันชูมีสีขาว แสด แดง หรือแม้กระทั่งสีดำ โดยอาจจะเป็นสีเดียวกันหมดทั้งตัว หรือจะเป็นหลายสีผสมกันก็ได้ทั้งสีในโทนเข้มหรืออ่อน

สำหรับนักเลี้ยงปลาทองรันชูมือใหม่นั้นคงจะยังไม่ทราบว่าเขาเริ่มดูจากด้านบนของตัวปลา (Top View) จึงขอแนะนำผู้ที่สนใจจะเลี้ยงปลาทองรันชูให้เริ่มดูกันจากหลักเกณฑ์ดังนี้

  • รูปทรงและความสมดุลของปลา เมื่อได้มองจากด้านบนในขณะที่ปลากำลังว่ายน้ำอยู่นั้นจะเริ่มพิจารณาลักษณะของการว่ายน้ำ ซึ่งจะมองโดยรวมก่อน หลังจากนั้นก็จะเริ่มดูไล่ลงไปจากส่วนหัว ลำตัวและส่วนหาง สังเกตว่ามีส่วนไหนผิดปกติหรือไม่ ตรงตามมาตรฐานหรือไม่ แล้วจึงค่อยลงความเห็นว่าลักษณะการว่ายน้ำสมดุลดีหรือเปล่า
  • ความอ้วนของปลา ปลาทองรันชูที่ผอมไปนั้นจัดว่าเป็นปลาทองที่ดูไม่ดี และไม่เป็นที่นิยมมากนัก โดยทั่วไปเมื่อมองที่ความกว้างของลำตัวและจะต้องสังเกตควบคู่ไปด้วยกับโคนหาง กล่าวคือหากปลามีลำตัวที่ใหญ่ก็จะต้องมีโคนหางที่ใหญ่ตามไปด้วย ถ้าเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่แต่โคนหางเล็กคะแนนนิยมก็จะตกลงไปมากทีเดียว
  • การเรียงแถวของเกล็ด และความสวยงามของสีสันลวดลาย การเรียงลำดับของเกล็ดที่มีขนาดเล็กนั้นควรจะเรียงเป็นแนวเดียวกันในแต่ละแถว ไม่กระจัดกระจาย และเกล็ดควรจะแวววาวสะท้อนแสงไฟ ส่วนสีสันนั้นจะขาวหรือแดงก็ไม่ควรที่จะเป็นสีที่เข้มสดมากเกินไปนัก
  • ปลาที่มีสง่าราศี เมื่อมองโดยภาพรวมแล้วรูปโฉมและการว่ายน้ำของปลาตัวนั้นต้องดูมีสง่าราศี
  • การว่ายน้ำของปลาทองรันชูก็สำคัญเหมือนกัน เพราะปลาที่ไม่ได้มาตรฐานจะมีการว่ายที่บ่งบอกให้รู้เช่นกัน สำหรับลีลาการแหวกว่ายของปลาจะต้องมีลีลาที่ปราดเปรียว ไม่อืดอาดหรือเชื่องช้า และไม่ว่ายด้วยท่าทีที่แปลกๆ เหมือนจะบ่งบอกให้รู้ถึงลักษณะหางที่ไม่ดี

Comments are closed.